
ตรวจโควิด-19 เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า “Pawoot (Pom) Pongvitayapanu” ไลฟ์สดรีวิวการเดินทางไปโรงพยาบาลรามคำแหงเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบไดรฟ์ทรู จั่วหัวว่า…“เค้าเพิ่งเปิดบริการ ไปลองตรวจหน่อย พอดีไอและมีเสมหะ”

ตรวจโควิด-19 เอกชน อย่างน้อยๆ มีค่อนหมื่น บรรยากาศช่วงฝนตก การให้บริการต้องหยุดชั่วขณะ ใช้เวลารอนานหน่อย แต่พอฝนหยุดเจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการได้เรื่อย มาเก็บข้อมูล ตัวอย่างการตรวจในกระพุ้งแก้มกับในจมูก…ใช้เวลาตรวจ 3-5 นาที
“สาเหตุการมาเพราะเมื่อวานเจ็บคอ ไอ แล้วก็เลยกลัว…ไปหาหมอมาแล้วมียาแก้อักเสบ แต่รู้สึกว่ากังวลเพราะช่วงนี้จะมีการประชุมกับคนเยอะๆ เลยคิดว่ามาตรวจแล้วกัน ไหนๆก็มีระบบไดรฟ์ทรูแล้วก็มาลองทดสอบระบบใหม่ๆ…เข้ามา 1 คัน 1 คน ราคา 6,500 บาท”
เจ้าหน้าที่ใส่ถุงมือไม่มีการสัมผัสผู้ที่รับบริการตรวจ ติดต่อส่งผลการตรวจตามมาทีหลัง
ข้อมูลเปิดเผยโรงพยาบาลมีความพร้อมตั้งแต่การเตรียมชุดป้องกันสำหรับผู้เก็บตัวอย่าง ประกอบด้วย เสื้อที่มีคุณสมบัติกันน้ำ กันไอน้ำที่จะซึมเข้ามาโดนตัวผู้ตรวจ อย่างที่ 2 ก็คือแมสก์ N 95 ที่มีคุณสมบัติในการกรองไวรัสและแบคทีเรีย
ประกอบกับมีชิวหน้ากากใสให้กับผู้เก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันการไอ สำลัก หรือจามแล้วมีไอน้ำออกมาก็จะป้องกันไม่ให้สัมผัสถูกหน้า มีหมวกสำหรับคลุมผมไว้ป้องกันการสัมผัสเชื้อ แล้วก็ถุงมือ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการป้องกันบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรงนี้ให้ได้รับความปลอดภัยมากที่สุด สำหรับการเก็บตัวอย่างก็จะมีการเก็บตัวอย่าง 2 ที่ คือที่จมูก กับต่อมทอนซิล
สำหรับผู้ที่จะมาเข้ารับบริการว่า การตรวจ Drive Thru Test ตรวจเชื้อโควิด-19 ควรลงทะเบียนออนไลน์ก่อน เพราะการลงทะเบียนออนไลน์จะทำให้ขั้นตอนเร็วขึ้น
แต่ถึงแม้จะไม่ได้ลงทะเบียนออนไลน์ ทาง รพ.ก็มีบุคลากรเตรียมพร้อมในการให้บริการไว้ให้เช่นกัน ทั้งนี้ ที่ต้องการให้ลงทะเบียนออนไลน์ก็เพื่อลดการสัมผัสกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจกับผู้มาเข้ารับบริการไม่แพร่ หลีกเลี่ยงการพบปะกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับเชื้อ ก็จะไม่แพร่เชื้อต่อไป
อีกกรณีตัวอย่างโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สอบถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อ “โควิด–19” ได้ข้อมูลว่า มีการแยกดูคนไข้ 2 ที่ด้วยกัน ก็คือ “คนไข้ที่มีอาการ” กับ “คนไข้ที่ไม่มีอาการ”
สมมติว่ามีอาการไอ ยังไม่มีไข้ แต่กังวลจะไปรับบริการตรวจ แม้ว่าจะไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดคนต่างชาติหรือเดินทางมาจากประเทศเสี่ยง ก็มาตรวจได้ จะไปตรวจได้ที่ส่วนของคนไข้ที่มีอาการเพราะมีอาการไอ เกี่ยวกับทางเดินหายใจ…ถามว่าค่าใช้จ่ายมากน้อยขนาดไหน คำตอบที่ได้…มีว่า กรณีคนไข้ไม่มีอาการเลยแต่ต้องการมาตรวจเช็ก อยู่ที่ 10,500 บาท เป็นค่าตรวจแล็บ ค่าแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล รวมเบ็ดเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว พร้อมออกใบรับรองแพทย์ให้
อีกกรณีเป็นคลินิกตรวจคนที่มีอาการแล้ว อย่างเช่นมีไข้ หรือมีอาการของระบบทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในส่วนนี้จะไม่มีราคาประเมินที่แน่นอนขึ้นอยู่กับอาการคนไข้
ถ้าคุณหมอตรวจเบื้องต้นไม่ได้สงสัยอะไรเพิ่มอาจจะตรวจดูโควิด-19 อย่างเดียว อย่างบางคนไอ หายใจหอบเหนื่อย ฟังปอดแล้วไม่เคลียร์ อาจจะต้องส่งเอกซเรย์ปอดเพิ่ม หรือไม่ก็ตรวจเพิ่มดูไข้หวัดใหญ่ชนิด A…B
ราคาจึงไม่สามารถประเมินแบบตายตัวได้ ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของอาการ อาจอยู่ระหว่าง 9,000–15,000 บาท บวกลบ…เรียกได้ว่า หากใคร? ที่คิดจะเข้าไปรับบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 กับโรงพยาบาลเอกชนต้องมีเงินในกระเป๋าอย่างน้อยๆค่อนหมื่นหรือเกือบสองหมื่นถ้ามีอาการสุ่มเสี่ยง
ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลสำรวจกันมาบ้างแล้วเกี่ยวกับราคาค่าตรวจส่งต่อๆกันมาในโลกออนไลน์ อาทิ…เทียบราคาโรงพยาบาลตรวจหาโควิด-19 สำหรับ “ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์”…รพ.จุฬาลงกรณ์ ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 3,000-6,000 บาท…รพ.ราชวิถี ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 3,000-6,000 บาท
รพ.รามาธิบดีผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 5,000 บาท ขึ้นไป…รพ.วิชัยยุทธผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 7,500 บาท…
รพ.บางปะกอก 9 อินเตอร์แนชั่นแนล ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 7,500-10,000 บาท…รพ.พญาไท 2 ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 6,100 บาท…รพ.พญาไท 3 ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 6,100 บาท…รพ.แพทย์รังสิต ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 8,000 บาท…
รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคาประมาณ 9,900 บาท…รพ.กรุงเทพคริสเตียน ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 5,000-10,000 บาท…รพ.พระราม 9 ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย 8,000-10,000 บาท รพ.เปาโลเมโมเรียล ผู้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ เสียค่าใช้จ่าย ราคา 5,000 บาท ขึ้นไป…
เอาเป็นว่าถ้าใครกังวลว่าจะติดเชื้อ “โควิด-19” อยากควักกระเป๋า จ่ายเงินเอง จะไปตรวจที่ไหนอย่างไร ก่อนไปก็โทร.สอบถามโรงพยาบาลเป้าหมายปลายทางกันได้คร่าวๆก่อนว่ามีค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน…
ไม่อย่างนั้นถ้าคิดเอง เออเอง เข้าใจผิดว่าเข้าข่ายติดเชื้อมีสิทธิ์ตรวจฟรีอาจจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้
หรือ…จะเอาชัวร์ จ่ายชัวร์แน่นอนก็ต้องมีเงินในกระเป๋าไว้อย่างน้อยๆก็ค่อนหมื่น…หมื่นบาท
ระยะสุดท้ายจะทำหรือไม่ทำ? (18/3/63) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬา สภากาชาดไทย เปิดประเด็นย้ำว่า ประเทศไทยต้องการมาตรการแบบที่หยุดการแพร่ได้เด็ดขาดหรือมากที่สุดเช่นประเทศจีน ขอ 21 วัน…
ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ
ห้ามออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ยกเว้นอาชีพที่ไม่สามารถทำจากที่บ้านได้ เช่น แพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ พนักงานสาธารณูปโภค…ออกไปทำธุระที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน…หรือจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น…และออกมาลำพัง หรือด้วยคนน้อยที่สุด…ห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด
ในสถานที่ทำงานที่อนุญาตให้ไปทำนั้น ต้องป้องกันตนเอง และรักษาระยะหนึ่งถึง 2 เมตร…ในกรณีที่ออกจากบ้านในกลุ่มที่จำเป็นดังกล่าวต้องสวมหน้ากากและล้างมือบ่อยที่สุด…ในขณะที่มีมาตรการปิดบ้านมีกระบวนการทำลายเชื้อในทุกพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้านอำเภอ ตำบล จังหวัด
“ปิดสถานที่อย่างที่รัฐบาลประกาศขณะนี้ไม่ช่วยอะไรมาก เพราะการใช้ชีวิตของประชาชนยังเหมือนเดิม ยังมีการทำงานในออฟฟิศ การเดินทางยังใช้รถโดยสารเช่นเดิม…การแพร่แม้อาจจะดูเหมือนลดจำนวนในแต่ละวันได้ แต่รอปะทุเป็นอาการหนักขึ้นเรื่อยๆที่ต้องเข้าโรงพยาบาล และกระทบระบบสาธารณสุข”
ถึงวันนี้…สถานการณ์การแพร่ระบาด “ไวรัสโควิด-19” ใน “ประเทศไทย” เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง ดูสถานการณ์ใน “โรงพยาบาล” ขณะนี้…ตั้งแต่ความลำบากในการจำแนกผู้ต้องสงสัยและมีผู้ป่วยติดเชื้อจริงมากขึ้นและอุปกรณ์และบุคลากร ที่จะ…“อัตคัด” ขึ้นตามลำดับ
“คนไทย”…ทุกคนต้องช่วยกันครับ ระยะขอบเหวแล้ว.
ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก
เว็บ : thairath.co.th